weopenmind.com Blog


เลือกตั้งยังไงให้สังคมเข้มแข็ง

Posted in Uncategorized by Jacelyn on March 25, 2022

ระหว่างที่การเมืองในระบบกำลังเซ็ทตัวเองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง 50
ผมกำลังนึกถึง “การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2″ แต่ก็ยังมองไม่เห็นทางออกหรือมีกลุ่มใหนจะเป็น
“หัวเรือใหญ่”
เลยกลับไปนึกถึงช่วงก่อนเลือกตั้ง 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบานสุดขีดตามรัฐธรรมนูญ 2540
หลากหลายองค์กร ต่างสังเคราะห์ปัญหาของประเทศชาติไว้อย่างเป็นระบบ
และนำเสนอต่อสังคมมาแล้ว เรียกตัวเองว่า “เครือข่ายการเมืองภาคพลเมือง”
ในการเลือกตั้งครั้งนั้น เราเรียกร้องประชาชนให้ “โหวตเพื่อสังคมเข้มแข็ง”
แม้ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ การโหวตเพื่อสังคมเข้มแข็งยังไม่ล้าสมัย
จึงขอนำกลับมา “ปัดฝุ่น” เพื่อท่านผู้สนใจ ได้เก็บไปคิด หรือนำไปอ้างอิงในกลุ่มสนทนาครับ

….การเมืองที่ไม่ใช่เงินเป็นใหญ่..     

นำเสนอโดย คณะทำงานเครือข่ายการเมืองของพลเมือง ร่วมกันคณะทำงานเครือข่ายยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะความยากจน
….ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของสถาบันดังต่อไปนี้      1. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
      2. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
      3. วิทยาลัยเพื่อการจัดการทางสังคม
      4. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
      5. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
      6. มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
      7. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
      8. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
      9. สถาบันพระปกเกล้าฯ
      10 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
      ………………………………………………………       การเมืองใหม่ ที่ไม่ใช่เงินเป็นใหญ่

      การเมืองแบบเก่า ๆ ที่ใช้เงินเป็นใหญ่แก้ปัญหาของประเทศ และของโลกไม่ได้แล้ว โลกจึงตกอยู่ในสภาพโกลาหล (chaos) มากยิ่งขึ้นทุกที จำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจสภาพโกลาหลที่กำลังเกิดขึ้น จึงจะเข้าใจว่า “การเมืองใหม่” คืออะไร มิฉะนั้นเราจะคิดถึงการเมืองในรูปเก่า ๆ และไม่มีทางออกจากวิกฤต

      1. อุกกาบาตใหญ่ 2 ลูกที่กระแทกโลกให้เสียสมดุล

      โลกมีธรรมชาติที่จะรักษาสมดุล แต่บางครั้งบางคราวมีอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งเข้ามาชนโลกจนเสียสมดุล ทำให้สรรพชีวิตบนโลกสูญพันธุ์ไปเกือบหมด ดังที่ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อน อันทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปพร้อมกับสรรพชีวิตอื่น ๆ เป็นอันมาก
      มนุษย์เพิ่งมีขึ้นบนโลกนี้ประมาณ 1 ล้านปีเท่านั้นเอง แต่เดิมมนุษย์ก็อยู่อย่างสมดุลกับธรรมชาติทั้งหลาย แต่มีสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น 2 อย่างที่มีผลทำให้โลกเสียสมดุลอย่างรุนแรง เปรียบประดุจอุกกาบาต ขนาดใหญ่กระแทกโลก “อุกกาบาต” ขนาดใหญ่ 2 ลูกนั้นคือ

      “””””””””การสร้างอาวุธที่มีพลังอำนาจสูง
      “””””””””ทุนขนาดใหญ่

      (1) การสร้างอาวุธที่มีพลังอำนาจ (พลานุภาพ) สูง เมื่อชาวยุโรปค้นพบวิทยาศาสตร์ประมาณ 5 ศตวรรษก่อน แล้วเอาความรู้ที่ได้มาสร้างอาวุธที่มีพลังอำนาจสูง เช่น เรือรบ ปืนใหญ่ โลกก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การที่มีเรือรบขนาดใหญ่ที่ทำด้วยเหล็กที่สามารถวิ่งไปได้ทั่วโลก ปืนใหญ่ที่มีอำนาจการทำลายได้ในระยะไกล และปืนกลที่สามารถฆ่าทหารทั้งกองพันได้ เหล่านี้เป็นอำนาจทำลายรุนแรงที่มนุษย์ไม่เคยมีมาก่อน
      คนส่วนน้อยที่มีอำนาจทำลายสูงได้ใช้อำนาจนั้นกระทำกับคนส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยไล่เข่นฆ่าชาวพื้นเมืองยึดบ้านเล็กเมืองใหญ่เพื่อแย่งชิงทรัพยากรของเขา พลังอำนาจอาวุธอันมหาศาลของคนผิดขาวได้ก่อให้เกิดการเสียสมดุลหมดทั้งโลก และปูพื้นฐานไปสู่ทุนขนาดใหญ่

      (2) ทุนขนาดใหญ่ ทุนขนาดใหญ่เป็นของไม่เคยมีมาในโลก การมีเงินขนาดหมื่นล้น แสนล้าน ล้านล้าน ล้านล้านล้าน … ตัวเลขเหล่านี้สามารถเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เราสามารถเติมศูนย์เข้าไปหลังตัวเลขได้เรื่อย ๆ เช่น 100000000000000000000……………………………………………..

      ทรัพยากรในโลกมีที่สิ้นสุด (Finite) แต่ความใหญ่ของเงินไม่มีที่สิ้นสุด (infinite) เงินจึงเป็นสิ่งสมมุติที่เป็นมายาคติ แต่อาศัยอำนาจหนุนหลัง และเกิดเป็นอำนาจที่ใหญ่โตมโหฬารที่โลกไม่เคยมีมาก่อน อำนาจเงินหรือธนานุภาพได้ก่อให้เกิดความแตกต่างอย่างรุนแรงทั้งระหว่างปัจเจกชนและระหว่างประเทศ อำนาจเงินขนาดใหญ่ได้ทำลายสิ่งที่มนุษย์เคยยกย่องว่ามีคุณค่า เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำลายสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ

      ทั้งพลานุภาพและธนานุภาพได้ก่อให้เกิดการเสียสมดุลของโลกอย่างรุนแรง และนำไปสู่สภาพโกลาหลที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน

      2. ความซับซ้อนของสังคมสมัยใหม่ กับความล้มเหลวของการเมืองเก่า

      สังคมสมัยใหม่เชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อนทั้งโลก ข้อมูลข่าวสาร ธุรกิจ และการเงิน ที่เชื่อมโยงติดต่อถึงกัน ทำให้สังคมเป็นระบบที่ซับซ้อน (Complex System) ในระบบที่ซับซ้อน ที่เงินและข้อมูลข่าวสารเคลื่อนด้วยความเร็วของแสง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงผันแปรกะทันหันอย่างทำนายล่วงหน้าไม่ถูก เกิดความโกลาหลอย่างควบคุมไม่ได้มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ไขได้ยากหรือแก้ไขไม่ได้เลย เช่น

      …………….ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยขยายใหญ่ขึ้น
      …………….ความไม่เป็นธรรมทางสังคม
      …………….การทำลายสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ
      …………….การทำลายวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ
      …………….วิกฤตการณ์ทางสังคมและพยาธิสภาพทางสังคม เช่น ความแตกสลายทางสังคม (social disintegration) ยาเสพติด ความรุนแรงต่าง ๆ

      ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยากต่อการเข้าใจและการแก้ไข ไม่มีรัฐบาลใดสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
      สถาบันต่าง ๆ ทางสังคมอ่อนแอเกินที่จะแก้ปัญหาในสังคมที่ซับซ้อนเหล่านี้ได้ สถาบันต่าง ๆ ที่อ่อนแอคือ
      …………….สถาบันทางการเมือง
      …………….สถาบันทางราชการ
      …………….สถาบันทางการศึกษา
      …………….สถาบันทางธุรกิจ
      …………….สถาบันทางศาสนา

      ในเมื่อปัญหายาก แต่เครื่องมือแก้ปัญหาขาดสมรรถนะ ปัญหาจึงสะสมเพิ่มพูนไปสู่สภาวะวิกฤต “การเมืองใหม่” ต้องสามารถแก้ปัญหายาก ๆ ได้ด้วย ไม่ใช่พูดแต่เรื่องใครมีอำนาจเท่านั้น แต่ต้องเป็นอำนาจที่มีสมรรถนะในการแก้ปัญหาที่ยากและซับซ้อน

                  3. อำนาจกองทัพ และอำนาจเงินแก้ปัญหาไม่ได้

                  สังคมใช้เวลาในการเรียนรู้จากของจริง แต่เดิมเมื่อบ้านเมืองติดขัดก็ใช้การปฏิวัติรัฐประหาร โดยกองทัพเข้ามาใช้อำนาจทางการเมือง แต่ทั้งกองทัพและสังคมก็ได้เรียนรู้แล้วว่าอำนาจของกองทัพก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ยากและสลับซับซ้อนได้ จนบัดนี้ไม่มีใครคิดจะแก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยอำนาจของกองทัพอีกต่อไปแล้ว นั่นก็เป็นการเรียนรู้ของสังคมอย่างหนึ่ง

                  ปัจจุบันทุนขนาดใหญ่ได้เข้ามาเล่นการเมืองโดยตรง ดังที่ว่ามีการใช้เงินกันเป็นหมื่นล้านในการเลือกตั้ง เมื่อทุนขนาดใหญ่เข้ามายึดอำนาจทางการเมือง ประชาธิปไตยก็กลายเป็นธนาธิปไตย เราไม่เห็นการแก้ไขปัญหาโดยการวางรากฐานที่ดี เราไม่เห็นความจริงใจที่จะเคารพและใช้รัฐธรรมนูญให้เกิดประโยชน์อย่างจริงใจ แต่เราเห็นการปิดกั้นกระบวนการทางสังคมและกระบวนการทางปัญญา เราเห็นการใช้ความรุนแรง ซึ่งอาจทำให้ไฟแห่งความรุนแรงลามเลียไปทั่วประเทศ สังคมมีข้อสงสัยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย จนขาดความเชื่อถือ (trust) มากขึ้นเรื่อย ๆ

                  สังคมกำลังได้รับบทเรียนว่า อำนาจเงินแก้ปัญหาของประเทศชาติบ้านเมืองไม่ได้
               

                  4. อำนาจอะไรที่จะแก้ปัญหาที่ยากและซับซ้อนได้

                  ถ้าอำนาจแห่งการใช้พละกำลังเรียกว่าพลานุภาพ และอำนาจแห่งการใช้เงินเรียกว่า ธนานุภาพ มีอำนาจแห่งความร่วมกันเป็นสังคมเรียกว่าสังคมานุภาพ

                  การเขยื้อนอำนาจ (power shift) ที่จะต้องเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีดังนี้

                  พลานุภาพ>>>>>ธนานุภาพ>>>>>สังคมานุภาพ

                  พลานุภาพกับธนานุภาพนั้นเป็นเรื่องของคนส่วนน้อยทำกับคนส่วนใหญ่ จึงไม่ใช่ประชาธิปไตย เมื่อไม่ใช่ประชาธิปไตยก็แก้ปัญหาไม่ได้ การใช้พละกำลังหรือการใช้เงินเป็นอำนาจจะแก้ปัญหายาก ๆ และสลับซับซ้อนได้อย่างไร แต่สังคมหมายถึงคนทั้งหมด และการร่วมกัน

                  ความเป็นสังคม หรือ “สังคมแข็งแรง” หมายถึง การร่วมคิด ร่วมทำ

                  รวมตัว = กระบวนการทางสังคม
                  ร่วมคิด = กระบวนการทางปัญญา
                  ร่วมทำ = กระบวนการทางการปฏิบัติร่วมกัน

                  ฉะนั้น ในความเป็นสังคม หรือ “สังคมเข้มแข็ง” จึงไม่ใช่รวมตัวกันเฉย ๆ แต่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันในทางปฏิบัติ (Interactive Learning through Action) หรือกระบวนการทางปัญญาด้วย

                  ในขณะที่การใช้พละกำลังและการใช้เงินเป็นอำนาจไม่สนใจการเรียนรู้ ทำให้ขาดพลังทางปัญญา (ปัญญานุภาพ) ซึ่งเมื่อไม่ใช้ปัญญาพอเพียงก็แก้ปัญหายาก ๆ และซับซ้อนไม่ได้ ในสังคมเข้มแข็งมีปัญญานุภาพรวมอยู่ด้วย และใช้การเรียนรู้ที่ทรงพลังที่สุดคือ “การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ”

                  สังคมานุภาพจึงมีอานุภาพมากกว่าพลานุภาพและธนานุภาพในการแก้ปัญหาสังคมที่ยาก ๆ และซับซ้อน

                  แท้ที่จริงสังคมานุภาพประกอบด้วยกระบวนการ 3 อย่างรวมอยู่ด้วยกัน คือ

                  …………….กระบวนการทางปัญญา (ป)
                  …………….กระบวนการทางสังคม (ส)
                  …………….กระบวนการทางศีลธรรม (ศ)

                  กระบวนการทางศีลธรรม หมายถึงความถูกต้องเป็นธรรมและเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
                  ในขณะที่ธนานุภาพขาดความถูกต้องเป็นธรรม และทำเพื่อประโยชน์คนส่วนน้อย จึงขาดพลังทางศีลธรรม
                  ฉะนั้น การที่สังคมทั้งหมดเข้ามามีบทบาทร่วมกัน จึงเป็นทั้งประชาธิปไตย ปัญญาธิปไตย และธัมมาธิปไตย
                  แต่เป็นประชาธิปไตยโดยตรง
               

                  5. การเมืองใหม่-ประชาธิปไตยโดยตรง

                  ประชาธิปไตยแบบเลือกผู้แทน (Represented Democracy) ล้าสมัยเน่าเหม็น และขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาของประเทศ ในสมัยโบราณการติดต่อสื่อสารลำบาก ประชาชนเลือกผู้แทนนั่งเกวียนหรือขี่ม้าไปประชุมกันที่กรุงลอนดอนหรือกรุงวอชิงตัน แต่สมัยนี้ด้วยการติดต่อสื่อสารและการคมนาคมสมัยใหม่ ที่ประชาชนมีบทบาทรู้เห็นข้อมูลข่าวสารถึงกันอย่างรวดเร็ว

                  ประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็ล้าสมัย ที่ไหนมีการเลือกตั้ง ที่นั่นมีการใช้เงิน และขณะนี้มีการใช้เงินกันเป็นหมื่นล้าน ผู้ได้รับเลือกตั้งจึงไม่ใช่ผู้แทนราษฎรอีกต่อไปโดยสาระ แต่เป็น “ผู้แทนอำนาจเงิน”

                  ฉะนั้น ที่เรียกว่าประชาธิปไตยจึงไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้ แต่เป็นประชาธิปไตยปลอม หรือเป็นเผด็จการด้วยเงิน ที่ปลอมมาในรูปแบบประชาธิปไตย แต่สาระไม่ใช่ประชาธิปไตย เราต้องไม่ยึดติดในรูปแบบ แต่ต้องแสวงหาสาระของประชาธิปไตย

                  ในเมื่อประชาธิปไตยทางอ้อมหรือโดยการเลือกผู้แทนไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

                  จำเป็นต้องแสวงหาการเมืองใหม่ที่ไม่ใช้เงินเป็นใหญ่ โดยอาจกระทำเป็น 2 ทางไปพร้อม ๆ กันคือ

                  (1) แสวงหากฎ กติกา และวิธีการ ที่จะทำให้การเลือกผู้แทนราษฎรต้องพึ่งอำนาจเงินน้อยที่สุด

                  (2) ผลักดันประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) ที่ประชาชนเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรง

                  แท้ที่จริงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมการเมืองของพลเมือง คือการที่ประชาชนจะมีบทบาทโดยตรงในการกำหนดอนาคตของตนเอง ในการตรวจสอบรัฐในการใช้คลื่นความถี่ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากที่สุด เป็นต้น แต่รัฐบาลขาดความจริงใจที่จะทำสิ่งดี ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เกี่ยวกับการเมืองของพลเมืองหรือประชาธิปไตยโดยตรง

                  ฉะนั้น ในขณะที่บ้านเมืองติดขัดด้วยการเมืองแบบใช้เงินเป็นใหญ่

                  คนไทยทุกหมู่เหล่าควรร่วมกันทำความเข้าใจและเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยโดยตรงหรือการเมืองของพลเมือง โดยใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

                  การเมืองใหม่ที่ไม่ใช้เงินเป็นใหญ่ คือประชาธิปไตยโดยตรงหรือการเมืองของพลเมือง โดยคนไทยทุกหมู่เหล่าร่วมกันเคลื่อนไหว เข้ามามีบทบาทในกิจการบ้านเมืองให้มากที่สุด

                  6. ประชาธิปไตยโดยตรง – กระบวนการสังคมเข้มแข็ง

                  ประชาธิปไตยโดยตรงต้องร่วมหรือเป็นเนื้อเดียวกันกับกระบวนการสังคมเข้มแข้ง ประชาชนแต่ละคนเป็นปัจเจกไม่มีกำลังพอที่จะต้านทานความไม่ดีที่ร้ายแรง และไม่มีกำลังพอที่จะแก้ปัญหาที่ยากและซับซ้อน แต่ต้องรวมตัวกันเป็นสังคม เป็นสังคมเข้มแข็งที่มีพลังอำนาจทางสังคม หรือสังคมานุภาพดังกล่าวแล้วในข้อ 4.

                  คำว่า “สังคม” มีความหมายมากกว่าคำว่า “ภาคประชาชน” เพราะหมายถึงทุกภาคส่วนของสังคม และหมายถึงการผนึกกำลังกันเข้ามาที่เรียกว่ากระบวนการสังคมเข้มแข้ง ซึ่งมีการสร้างความรู้และใช้ความรู้เป็นการขับเคลื่อนกระบวนการทางสังคม

                  ในประชาธิปไตยโดยตรง-กระบวนการสังคมเข้มแข็งนี้ สังคมเข้ามาทำอะไร ๆ ด้วยตนเองมากที่สุด ไม่รอให้รัฐเป็นผู้ทำเท่านั้น เช่น

                  …………….สังคมชุมชนรากหญ้าเข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตยโดยตรงระดับรากหญ้าเต็มพื้นที่
                 
                   ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานล่างของสังคม ถ้าฐานล่างเข้มแข็ง สังคมทั้งหมดจะมั่นคงและยั่งยืน ควรส่งเสริมให้คนในชุมชนท้องถิ่นรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ ในทุกพื้นที่ ทุกองค์กร และทุกเรื่อง ทั่วประเทศ ทำการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้งทางเศรษฐกิจ จิตใจ ครอบครัว สังคม วัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยเน้นเรื่องการมีสัมมาชีพหรือเศรษฐกิจพอเพียง ทุกคนมีความเสมอภาพ มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเอง มีองค์กรจัดการ มีสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญนี้ เป็นประชาธิปไตยโดยตรงระดับรากหญ้า และมีสมรรถนะในการแก้ปัญหาทุกชนิดพร้อมกัน นี่คือประชาธิปไตยที่แท้จริง และแก้ปัญหาได้ เป็นบ่อเกิดของความร่มเย็นเป็นสุข เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ใช่ธนาธิปไตย

                  …………….สังคมลงมือทำเรื่องต่าง ๆ เองให้มากที่สุด กลไกที่เป็นทางการเท่านั้นไม่มีกำลังเพียงพอต่อการพัฒนาดังกล่าวแล้ว สังคมควรจะเข้ามาทำอะไรเองให้มากที่สุด เช่น เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการศึกษา เรื่องสุขภาพ เรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เรื่องวัฒนธรรม ฯลฯ รัฐพึงสนับสนุนบทบาทของสังคม

                  …………….สังคมร่วมรัฐหรือสังคมนำรัฐแล้วแต่กรณี ถ้ารัฐทำเรื่องอะไรดี ๆ สังคมควรร่วมด้วยเพื่อให้ดียิ่งขึ้น หากสังคมสามารถนำรัฐได้ด้วยยิ่งเป็นการดี รัฐมีข้อจำกัดมากในการทำโครงการดี ๆ เพราะมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงสูง มีการแย่งชิงผลประโยชน์ และความสงสัยระแวงโดยสาธารณะว่าจะมีการคอร์รัปชั่น ถ้าสังคมเป็นฝ่ายริเริ่มโครงการดี ๆ และรัฐตามจะง่ายขึ้นมาก

                  …………….สังคมตรวจสอบรัฐให้มีความโปร่งใสและสุจริต โดยรวมตัวเรียกร้องตรวจสอบข้อมูล มีความร่วมมือกับนักวิชาการ และสื่อมวลชน เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการตรวจสอบ ต้องส่งเสริมให้สื่อมวลชนสามารถทำการสืบสวนได้ (Investigative Journalism) ควรมีการตั้งกองทุนวิจัยเพื่อสื่อมวลชน ถ้าสื่อมวลชนสามารถสืบสวนได้ สังคมจะเข้มแข็งมาก

                  …………….กระบวนการนโยบายสาธารณะ นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อทุกองคาพยพอย่างรุนแรง นโยบายสาธารณะที่ดีควรเป็นกระบวนการทางปัญญา กระบวนการทางสังคม และกระบวนการทางศีลธรรม แต่ในความเป็นจริงในระบบธนาธิปไตย นโยบายมักถูกกำหนดโดยคนส่วนน้อยหรือคนคนเดียว โดยไม่ได้ใช้ความรู้หลักฐานข้อมูลประกอบวิจารณญาณ แต่ทำเพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่มเฉพาะพวก ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงในบ้านเมือง อำนาจอธิปไตยของปวงชนที่สำคัญที่สุดคืออำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ นักวิชาการต้องทำงานวิเคราะห์สังเคราะห์นโยบาย แล้วนำมาสู่การร่วมเรียนรู้ และร่วมขับเคลื่อนไปสู่การนำนโยบายไปปฏิบัติ

                  ถ้าสังคมทำได้ทั้ง 5 ประการ จะถือเป็นประชาธิปไตยโดยตรงที่ผ่านกระบวนการสังคมเข้มแข็ง ทำให้แก้ปัญหายาก ๆ และซับซ้อนได้ เนื่องจากประชาธิปไตยโดยตรงเป็นเรื่องของทุกภาคส่วนของสังคม นักวิชาการก็ดี ภาคธุรกิจก็ดี ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน

                  ในกระบวนการสังคมเข้มแข็ง จะมีผู้นำตามธรรมชาติผุดบังเกิด (emerge) ขึ้นจำนวนมาก ผู้นำตามธรรมชาติจะมีคุณภาพมากกว่าผู้นำโดยการเลือกตั้งหรือโดยการแต่งตั้ง ผู้นำตามธรรมชาติเหล่านี้จะช่วยให้การเมืองมีคุณภาพมากขึ้น

                  7. พรรคการเมืองกับการสนับสนุนประชาธิปไตยโดยตรง

                  ในการเมืองแบบเก่า ๆ พรรคการเมืองจะไม่สนับสนุนกระบวนการสังคมเข้มแข็ง จะทำตรงข้ามคือพยายามปิดกั้น แต่ในการเมืองใหม่ พรรคการเมืองควรสนับสนุนและทำงานร่วมกับกระบวนการสังคมเข้มแข็ง ถ้ากระบวนการสังคมเข้มแข็ง พรรคการเมืองต่าง ๆ จะปรับตัวมาสู่การสนับสนุนประชาธิปไตยโดยตรงมากขึ้น หรือผู้นำตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นในกระบวนการสังคมเข้มแข็ง อาจก่อตั้งพรรคการเมือง เพื่อสังคมเข้มแข็งขึ้น เมื่อพรรคการเมืองแบบใช้เงินเป็นอำนาจเสื่อมสลายลง พรรคการเมืองเพื่อสังคมเข้มแข็งจะมีบทบาทมากขึ้น และในที่สุดสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสังคมได้

                  เมื่อประชาธิปไตยโดยตรงกับประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งเชื่อมโยงหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จะถูกสถาปนาขึ้น แทนที่ระบอบเผด็จการด้วยเงิน

                  เมื่อระบอบประชาธิปไตยที่แท้ได้รับการสถาปนาขึ้น หากมีความจำเป็นก็เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ได้ นี้จะเป็นไปดังที่มีผู้กล่าวว่า “ระบอบประชาธิปไตย สร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย”

                  8. คนไทยรวมใจขจัดการเมืองที่ใช้เงินเป็นใหญ่ เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้ประเทศ

                  การใช้ทุนขนาดใหญ่มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเป็นอัปมงคล ทำให้ประชาธิปไตยบิดเบี้ยว เพราะเป็นการที่คนส่วนน้อยใช้อำนาจเงินกระทำต่อคนส่วนใหญ่ เป็นเผด็จการด้วยเงิน เมื่อเป็นเผด็จการก็แก้ปัญหาของบ้านเมืองไม่ได้ ประเทศจะสะสมปัญหาเพิ่มพูนขึ้นจนวิกฤต คนไทยควรร่วมใจกันขจัดการเมืองที่ใช้เงินเป็นใหญ่ ควรร่วมกันแสวงหากฎ กติกา และวิธีการที่ป้องกันการซื้อเสียง และเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยโดยตรง โดยมีกระบวนการสังคมเข้มแข็งเข้ามาทำงานต่าง ๆ ด้วยตนเองให้มากที่สุด ร่วมกับรัฐในสิ่งที่ควรร่วม นำรัฐในสิ่งที่ควรนำ ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และมีบทบาทในการสร้างนโยบายสาธารณะและผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

                  พรรคการเมืองควรปรับตัวให้เป็นพรรคการเมืองเพื่อสังคมเข้มแข็ง หรือมีการสร้างพรรคการเมืองใหม่ที่สนับสนุนประชาธิปไตยโดยตรง เมื่อประชาธิปไตยโดยตรงกับประชาธิปไตยโดยเลือกตัวแทนเข้ามาเชื่อมโยงและหนุนเสริมซึ่งกันและกัน จะเกิดระบอบประชาธิปไตยที่แท้ขึ้น ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหายาก ๆ และสลับซับซ้อน สร้างบ้านเมืองที่ร่มเย็นเป็นสุขและมีสันติภาพ ประเทศเจริญรุ่งเรือง มีศักดิ์ศรี เกิดสิริมงคล และสวัสดิมงคล

บทความนี้เคยนำไปเสวนาในเว็บบอร์ดราชดำเนิน เมื่อก่อนเลือกตั้งปี 48
http://topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/P3210882/P3210882.html

การตอบรับค่อนข้างดี มีความคิดเห็นแตกต่างกันบ้าง
พอเลือกตั้ง ปี 2549 นำบทความเดียวกันไปวางให้แสดงความคิดเห็นแต่สิ่งที่ชาวราชดำเนินตอบรับ
เป็นแบบนี้ครับ

สถานที่เดียวกัน แต่สมาชิกต่างกัน ความรู้สึกหรือกระแสสังคมต่างกัน
เหมือนอยู่คนละโลกครับ

บทความส่วนใหญ่เก็บไว้ที่ “กระท่อมน้อยของลุงแคน”

บางส่วนไปเปิดบล็อคในโอเคเนชั่นสายใยไทยทั้งเมือง

Comments Off on เลือกตั้งยังไงให้สังคมเข้มแข็ง